top of page

ไทยได้อะไรจากประชุมโลกร้อน COP27?

เมื่อโลกที่เราอยู่ กำลังเผชิญกับปัญหาและความท้าทายรอบด้าน ทำให้กระแสความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากประชาคมโลก โดยองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เชื่อว่า ESG ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวให้กับธุรกิจ แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างลุกขึ้นมาร่วมมือกันแก้ไขวิกฤตซ้ำซ้อนที่ใกล้ตัวมากขึ้น



สำหรับเวทีการประชุมสำคัญที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP27’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 ที่จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565


การประชุม COP27 ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 35,000 คน รวมถึงตัวแทนรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์ และภาคประชาสังคม หลังประชุมอย่างตึงเครียดมาร่วมเกือบสองสัปดาห์เพื่อหารือแนวทางเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ มุ่งประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage Fund) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น


COP27 คืออะไร ?


COP 27 คือเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 โดยเวที COP เป็นการประชุมภาคี (Conference of Parties) ด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ปี 1992 ที่รัฐภาคีเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกจะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมหารือกันเป็นประจำทุกปี


คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว หากทุกประเทศยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดโลกร้อนอย่างจริงจัง


โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ถ่านหิน และแก๊ส อุณหภูมิของโลกในระยะเวลาอันสั้นนี้ จะเพิ่มสูงขึ้นไป 1.5 องศาเซลเซียสจากฐานของอุณหภูมิโลกเมื่อปี 1850 และหากว่าอุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นเกินเพดาน 1.7-1.8 องศาเซลเซียส

โลกของเราก็จะพบกับหายนะครั้งยิ่งใหญ่ เพราะประชากรกว่าครึ่งโลกหนึ่งของโลกจะตกที่นั่งลำบากทันที เช่น ภาวะการไร้ที่อยู่อาศัยจากการที่พื้นดินหลายแห่งจมลงไปในทะเล พื้นที่ทำเกษตรหายไป รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องสูญเสียไปด้วย



สาระสำคัญที่สรุปได้จากการประชุม COP27


สำหรับการประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องจัดตั้งกองทุนในการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย นับเป็นการต่อสู้ทางการทูต สำหรับหมู่เกาะเล็ก ๆ และประเทศเปราะบางอื่น ๆ ในการเอาชนะกับ 27 ชาติในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาแนวทางนี้ถูกต่อต้านจากประเทศร่ำรวยหลายประเทศ


การเกิดขึ้นของกองทุนดังกล่าว เป็นผลมาจากฐานคิดที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงต่างเคยทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมาในอดีต

ท้ายที่สุด ประเด็นดังกล่าวยุติลงได้ด้วยการตั้งข้อตกลงที่เรียกร้องให้เงินทุนที่ชดเชยมาจากแหล่งกองทุนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงสถาบันการเงิน แทนที่จะพึ่งพาประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก่อตั้งกองทุนได้สำเร็จ เพราะแม้จะมีการกำหนดจัดตั้งกองทุน แต่พบว่ายังขาดการระบุรายละเอียดที่ชัดเจน


โลกร้อนขึ้น ใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบ ‘ค่าชดเชย’

เพื่อความยุติธรรม ค่าชดเชย กลายเป็นข้อเรียกร้องของประเทศขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวน โดยประเทศที่ร่ำรวยต้องเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ประเทศขนาดเล็ก เนื่องจากเป็น กลุ่มประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกรวมกว่าครึ่งโลก นับตั้งแต่มีการปล่อยคาร์บอน


ดังนั้น ประเทศร่ำรวยตามนิยามของ UN คือ 23 ประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยียม กรีซ ออสเตรีย สวีเดน เดนมาร์ก ต้องร่วมกันรับผิดชอบการปล่อยคาร์บอนครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาอีกกว่า 150 ประเทศ ต้องร่วมกันรับผิดชอบคาร์บอนอีกครึ่งที่เหลือ

ทั้งนี้ จากข้อมูลการรายงาน Global Climate Risk Index 2021 ที่เผยแพร่โดยสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)) ระบุถึงดัชนีความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ช่วงปี 2000-2019 ซึ่งประเทศ 9 อันดับที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้แก่ เปอร์โต ริโก เมียนมา เฮติ ฟิลิปปินส์ โมซัมบิค บาฮามัส บังคลาเทศ ปากีสถาน และไทย


สิ่งที่ทั้ง 9 ประเทศนี้ต้องเจอคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก ทั้งที่พวกเขาไม่ได้เป็นกลุ่มประเทศผู้ก่อมลพิษหลัก อีกทั้งประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเข้าไม่ถึงทรัพยากรมากพอที่จะรับมือกับความสูญเสียและความเสียหาย รวมถึงปรับตัวในวิกฤตสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ได้เลย


หากพิจารณาจากตัวเลขโดยประมาณจากงานวิจัยระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจาก Climate Change ภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 290-580 พันล้านดอลลาร์ (หรือราว 10.3-20.6ล้านล้านบาท) ซึ่งในปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศร่ำรวยสัญญาว่า จะมอบเงินปีละ 40 ล้านล้านดอลลาร์ (หรือราว 1.425 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยให้ประเทศยากจนได้ปรับตัว โดยทาง UN ให้ข้อมูลว่า เงินจำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่า 1 ใน 5 ของเงินที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการเสียอีก

อ่านต่อได้ที่ bangkokbanksme.com

Comments


bottom of page