top of page

อยากเปลี่ยน 'คาร์บอนเครดิต' เป็นรายได้ ต้องทำอย่างไร

ทำความรู้จัก ‘แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตไทย’ เครื่องมือธุรกิจเดินตามแนวคิด ESG


คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจและเป็นทางเลือกของผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมี ‘แพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต’ เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น


และยังเพิ่มโอกาสการแข่งขันทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการส่งออก ได้รับการยอมรับว่าสินค้าที่ผลิตมีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainability) รวมถึงลดความเสี่ยงจากผลกระทบของมาตรการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งเป็นกฎกติกาโลกการค้าโลกยุคใหม่


สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. จึงมีความเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถดำเนินกิจกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสนับสนุนตลาดคาร์บอนภายในประเทศ

ใครเป็นผู้ซื้อ ใครเป็นผู้ขาย ทำไม ? ต้องมีการซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ กัน


สำหรับการซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ มีหลักการง่าย ๆ คือ หากบริษัทใดลดการปล่อยคาร์บอนฯ ได้ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนด ก็สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ที่เหลือให้บริษัทอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดนั่นเอง นั่นแปลว่าหากบริษัทใดต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นจำนวนมากก็จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทอื่น


ส่วนทางฝั่งบริษัทที่เป็นผู้ขายก็จะนำเงินที่ได้ มาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าตัวเองที่เน้นใช้พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโมเดลนี้จะส่งผลให้บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ น้อยอยู่แล้วก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ก้าวไปสู่ Net Zero หรือค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ส่วนบริษัทไหนที่ไม่อยากมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่ม ก็หันมาเคร่งครัดการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ในกระบวนการผลิตและอื่น ๆ


ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ น้อยลงเรื่อย ๆ โดยโมเดลนี้ก็ถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก อย่างเช่น สหภาพยุโรป, ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคบังคับ



ส่วนในประเทศไทยนั้นเป็น ตลาดสมัครใจ เป็นการซื้อ-ขายที่ไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับจากทางภาครัฐ โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องคาร์บอนเครดิต ก็คือ การก่อตั้ง Carbon Markets Club นำโดย กลุ่มบริษัทบางจากฯ พร้อมด้วยความร่วมมือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยมาเข้าร่วม อาทิ กฟผ., เครือเจริญโภคภัณฑ์, เชลล์, บีทีเอส กรุ๊ป, เต็ดตรา แพ้ค, บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส โดยมีผู้ขายคือ บริษัท บีซีพีจี และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ 25 บาทต่อ 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (tCO2e) และเพียงวันแรกที่เปิดตลาดซื้อ-ขายกันนั้นมีมูลค่ารวม 2,564 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 298,140 ต้น หรือคิดเป็น 1,491 ไร่


ที่น่าสนใจก็คือ Carbon Markets Club ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ยังช่วยประสานงานการขายให้แก่คนทั่วไปที่ต้องการซื้อ คาร์บอนเครดิต จาก อบก. อีกด้วย รู้หรือไม่ว่า ค่าเฉลี่ยคนไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 3.77 ตันต่อคน โดยตัวเลขนี้จะเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยจากภาคการผลิตและภาคขนส่งของประเทศที่ในปี 2020 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ รวมกัน 224.3 ล้านตัน

โดยแบ่งเป็นภาคการผลิตไฟฟ้า 40% ภาคอุตสาหกรรม 29% ภาคขนส่ง 25% ที่เหลือคือภาคธุรกิจอื่น ๆ 6% ข้อมูลตรงนี้ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ใน 1 วันตัวเราเองก็เป็นผู้ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯ เพราะเราต้องใช้ไฟฟ้าและเดินทางบนท้องถนนอยู่เป็นประจำ

สำหรับ ผู้ประกอบการ SME และประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าเว็บไซต์ http://www.carbonmarketsclub.com เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเลือกซื้อ เป็นการสนับสนุนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศผ่านการซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดย อบก.


อ่านต่อ: www.bangkokbanksme.com

Comments


bottom of page