ปีนี้ทั่วโลกตื่นตัวรับมือกับโจทย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มากขึ้น ประเทศต่างๆ จับมือร่วมกันในเวทีโลก COP26 เพื่อเร่งแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน
หลายประเทศประกาศกลยุทธ์นโยบายภายในประเทศให้สอดรับกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย "ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)" ภายในปีที่ประกาศไว้ แม้แต่กลุ่มธนาคารกลางเองก็เริ่มประกาศแผนกลยุทธ์ด้าน climate change โดยเฉพาะสมาชิกในกลุ่มประเทศ G20 ที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ บางธนาคารกลางในกลุ่มนี้เริ่มใช้นโยบายการเงินสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมลดการปล่อยคาร์บอน นับเป็นมิติใหม่ของธนาคารกลางที่ให้ความสำคัญกับ climate change ที่ชัดเจนมากขึ้น
นโยบายการเงินสีเขียว ลดโลกร้อนอย่างไร
ธนาคารกลางทั่วโลกต่างมองเห็นว่าปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจัดเป็นความเสี่ยงสำคัญในระยะปานกลางถึงระยะยาว จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของนโยบายการเงินในการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนในระยะยาว (sustainability) และการรักษาเสถียรภาพราคา รวมถึงอาจกระทบต่อภาวะการเงินในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสภาวะโลกร้อนทำให้เกิดความเสี่ยงทางกายภาพ (physical risks) เช่น ภัยธรรมชาติรุนแรงกระทบห่วงโซ่อุปทานในการผลิต การลงทุน จ้างงาน ซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาและค่าจ้างโดยรวมในที่สุด นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่าน (transition risks) จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของธุรกิจและประชาชนจากนโยบายภาครัฐที่จะออกมาแก้ปัญหาโลกร้อน ความเสี่ยงทั้งสองรูปแบบนี้เองจะทำให้พฤติกรรมการลงทุนและการให้กู้ยืมเงินของสถาบันการเงินในระบบการเงินเปลี่ยนไปด้วย
แต่ช่วงกลางปีนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นและจีนเป็นธนาคารกลางแห่งแรกๆ ที่เผยไอเดีย "เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่" คล้ายรูปแบบโครงการเงินกู้สีเขียว (green lending facility) โดยตั้งเป้าจะเริ่มใช้ปลายปีนี้
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจและสถาบันการเงินเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวเร็วขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นเรียกเครื่องมือนี้ว่า "fund-provisioning measure to support efforts on climate change" เป็นโครงการเงินกู้ดอกเบี้ย 0% ให้สถาบันการเงินนำไปลงทุนหรือให้กู้ยืมที่เข้าข่ายเงินกู้/พันธบัตรสีเขียว เงินกู้/พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนที่ตั้งเป้าหมายเชื่อมโยงกับ climate change และการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (transition finance) กำหนดอายุเงินกู้ 1 ปีและต่ออายุได้ระยะยาว 10 ปี
ธนาคารกลางจีนเรียกอีกอย่างว่า "carbon emission reduction facility (CERF)" ประกาศเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 64 ว่าจะให้เงินกู้แก่สถาบันการเงิน 60% ของเงินต้นที่ปล่อยกู้ไปให้ธุรกิจ 3 สาขาเป้าหมายที่เข้าข่ายลงทุนเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน พลังงานสะอาด และอนุรักษ์พลังงาน โดยสถาบันการเงินต้องคิดดอกเบี้ยโครงการเงินกู้สีเขียวนี้ในอัตราต่ำเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิง loan prime rate (LPR) 3.85% ซึ่งธนาคารกลางจีนจะให้เงินกู้ CERF ดอกเบี้ยต่ำ 1.75% อายุ 1 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้ง สิ่งที่น่าสนใจคือธนาคารกลางจีนประกาศชัดว่าจัดให้เครื่องมือนโยบายการเงินใหม่นี้อยู่ในกลุ่มของ "เครื่องมือนโยบายการเงินเชิงโครงสร้าง (structural monetary policy tool)" ซึ่งในช่วงวิกฤตโควิดธนาคารกลางจีนหันมาใช้เครื่องมือกลุ่มนี้ในเชิงรุกมากขึ้น ให้เป็นกลไกจัดสรรเงินทุนเจาะจงกลุ่มเป้าหมายในภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อย (micro and small businesses) ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น มาตรการโครงการเงินกู้ระยะปานกลางแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (targeted medium-term lending facility: TMLF)
เครื่องมือนโยบายการเงินสีเขียว: เหมือนหรือต่างจากเครื่องมือเดิมอย่างไร
อันที่จริงเครื่องมือนโยบายการเงินใหม่นี้มีหน้าตาคล้ายเครื่องมือเดิมที่หลายธนาคารกลางออกใช้ในช่วงโควิด คือ (1) ธนาคารกลางให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษผ่านสถาบันการเงินเพื่อจัดสรรสภาพคล่องแบบเจาะจงให้บางภาคส่วนของเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงโควิด ภาคเกษตร การพัฒนาเชิงพื้นที่ และ (2) มีกลไกการจัดสรรเงินทุนที่ยึดหลักการความเป็นกลาง (market neutrality) ของธนาคารกลางผ่านกลไกตลาด โดยใช้เครื่องมือนี้ให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพิจารณาจัดสรรเงินกู้เป็นรายธุรกิจของสถาบันการเงินโดยตรง หรือธนาคารกลางไม่ได้เข้าไปซื้อพันธบัตร/หุ้นกู้ที่ธุรกิจออกระดมทุนโดยตรงเพื่อใช้ในโครงการลงทุนสีเขียว
แต่ความพิเศษของเครื่องมือนโยบายการเงินใหม่นี้ก็คือ (1) เป็นโครงการให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษระยะยาว และกำหนดเงื่อนไขเชื่อมโยงโจทย์ climate change กับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีกลไกจัดสรรเงินทุนให้สถาบันการเงินเอาเงินทุนนี้ไปปล่อยกู้โครงการลงทุนของธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระยะยาว และ (2) สถาบันการเงินต้องช่วยเปิดเผยข้อมูลก๊าซคาร์บอนที่โครงการเงินกู้นี้ช่วยลดได้ต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส
จะเห็นได้ว่า ขณะนี้หลายประเทศมองปัญหาโลกร้อนเป็นโจทย์ระยะยาวที่ต้องมีแผนกลยุทธ์นโยบายรับลูกกันเป็นองคาพยพ เริ่มแก้แต่เนิ่น ๆ จะได้ปรับนโยบายระหว่างทางได้ในการสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจ ประชาชน และสถาบันการเงินปรับพฤติกรรมช่วยลดโลกร้อน เพราะหากเริ่มช้าเหลือเวลาไม่เยอะ นอกจากจะไม่ทันรับมือผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนที่จะรุนแรงขึ้นอีกมากแล้ว ภาครัฐอาจต้องออกมาตรการเข้มจนทำให้การปรับตัวไม่ค่อยราบรื่นนักได้ค่ะ
ผู้เขียน : ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 ธันวาคม 2564
ที่มา: www.bot.or.th
Comments