หลังก๊าซเรือนกระจกถูกแปรสภาพเป็นสินค้าซื้อขาย รับพันธกิจ Net Zero
ธนาคารกรุงเทพเผยแพร่บทความเกี่ยวกับธุรกิจซื้อ ขาย "คาร์บอนเครดิต" โดยมีเนื้อหาระบุว่า
เป็นที่ทราบกันดีว่าในโลกการทำธุรกิจต้องมุ่งลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ เพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่บังคับให้บริษัทต้องลงทุนเพิ่มเพื่อเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้ปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนน้อยลง
ฃในเมื่อการช่วยโลกต้องขัดกับแนวทางการทำธุรกิจขนาดนี้ ทำยังไงถึงจะจูงใจให้บริษัทเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ คำตอบคือต้องทำให้ ‘ก๊าซเรือนกระจก’ กลายเป็น ‘สินค้า’ ที่เรียกว่า ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ที่มีราคาซื้อขายได้ในตลาด และกลายเป็นต้นทุนที่ต้องลด หรือเป็นสินค้าที่ไว้ขายเพื่อเพิ่มรายได้ โดยคาร์บอนเครดิตของแต่ละตลาดซื้อขายในแต่ละประเทศ 1 เครดิต ส่วนมากจะเท่ากับปริมาณคาร์บอน น้ำหนัก 1 ตัน
ทั้งนี้ ‘คาร์บอนเครดิต’ กำลังกลายเป็นธุรกิจซื้อขายมลพิษที่มีแนวโน้มทำเงินมหาศาลในอนาคต ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างพันธกิจ Net Zero เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ประกอบการรายใด ที่ยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซได้ ก็ยังสามารถทดแทนด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน ในตลาดโลก
ภาพรวมตลาดคาร์บอนเครดิตโลก
สำหรับภาพรวมของตลาดคาร์บอนเครดิตโลก เมื่อปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 12,000 ล้านบาท คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 750,000 ล้านบาท ในปี 2030 (พ.ศ.2573) สำหรับประเทศที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย และญี่ปุ่น
จากสถิติจาก World Resources ระบุว่าสหรัฐปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดปีละ 5.7 พันล้านตัน อันดับ 2 คือจีน 3.4 พันล้านตัน อันดับ 3 คือ รัสเซีย 1.5 พันล้านตัน ญี่ปุ่น 1.2 พันล้านตัน อังกฤษ 558ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 26 ของโลก อยู่ที่ราว 256 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็น 1% ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของทั้งโลกที่ถูกปล่อยออกมา ก๊าซเรือนกระจกนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาจากภาคการผลิตไฟฟ้าถึง 39% ดังนั้นการซื้อขายคาร์บอนเครดิต จึงเป็นหนึ่งในแนวทางช่วยให้ประเทศตัวการปล่อยก๊าซพิษไม่ต้องถูกลงโทษ
ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่า ใน 10 ปีข้างหน้า
จากงานวิจัยของหลาย ๆ สำนักทั่วโลกต่างคาดการณ์เป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ธุรกิจซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลกจะเติบโตมากถึง 100 เท่า ในปี 2593 อย่างเช่น งานวิจัยของ McKinsey คาดว่าในปี 2573 ความต้องการคาร์บอนเครดิตในตลาดซื้อขายคาร์บอนภาคสมัครใจจะเติบโตถึง 15 เท่า จากปี 2563 จนแตะระดับ 1.5-2 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี และเติบโตมากถึง 100 เท่า จนมาอยู่ที่ราว 7-13 กิกะตันคาร์บอนฯ (GtCO2) ต่อปี ในปี 2593
ตัวอย่างองค์กรชั้นนำของโลกที่ซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’
จากตัวเลขการเติบโตดังกล่าวก็สอดคล้องกับเป้าหมายของเหล่าบริษัทชั้นนำของโลก ที่ทำข้อตกลงร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนลง โดยคาดว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 140 ล้านดอลลาร์ และจะมีพลังงานหมุนเวียนเกิดขึ้นอีกกว่า 1,600 เมกะวัตต์
เริ่มจากบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘Microsoft’ ที่เคยประกาศในปี 2020 จะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ภายในปี 2030 นอกจากนี้ Microsoft ยังตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณคาร์บอนให้เท่ากับปริมาณคาร์บอนที่รับผิดชอบในการผลิตนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการในปี 1975
ปัจจุบัน บริษัท ‘Microsoft’ ได้หันมาใช้พลังงานทดแทน 100% ในศูนย์ข้อมูล และสำนักงาน ไปจนถึงห้องทดลองต่างๆ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้ซื้อคาร์บอนเครดิตในดินมูลค่า 43,338 เมตริกตัน ซึ่งมาจากการกักเก็บคาร์บอนที่ฟาร์มปศุสัตว์ โดย Microsoft ได้ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อซื้อคาร์บอนเครดิตในดินที่ประเทศออสเตรเลีย โดยจะใช้ระบบ Regen Network ที่สร้างขึ้นบนบล็อกเชนของ Cosmos และการกักเก็บคาร์บอนแบบ CarbonPlus Grasslands ที่ใช้กับฟาร์ม 2 แห่งในนิวเซาท์เวลส์
ขณะที่ "คาร์บอนเครดิต" มูลค่า 43,338 เมตริกตันที่ออกให้กับ Wilmot Cattle Co นั้นถูกริเริ่มโดยบริษัท Impact AG ก่อนที่ Microsoft จะเข้าซื้อ โดยได้มีรายงานว่าเจ้าของฟาร์ม Wilmot ได้เพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนอินทรีย์ในดินบนที่ดินของพวกเขาได้ถึง 4.5% ซึ่งทำได้โดยการจัดการเลี้ยงปศุสัตว์ ความเข้มข้นของคาร์บอนอินทรีย์ในดินอยู่ที่ 4% ถึง 6%
ทั้งนี้ คาร์บอนเครดิต ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดการกักเก็บธาตุคาร์บอนในดิน เป็นกระบวนการจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและกักเก็บไว้ในดิน สิ่งนี้ทำได้โดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลของ Regen Network ที่ขึ้นชื่อว่าได้ช่วยสภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า สุขภาพของดินและสุขภาพของระบบนิเวศโดยทั่วไปได้อีกด้วย
อ่านต่อ: www.thansettakij.com
Comments