top of page

Thailand Taxonomy

ที่ผ่านมาการเงินสีเขียวในประเทศไทย Green Finance ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นความพร้อมปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้าน




อันได้แก่ (1) ด้านความยั่งยืน (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านทรัพยากรมนุษย์ และ (4) ด้านการดำเนินธุรกิจ ในการประเมินศักยภาพทางการแข่งขัน (Competitiveness) ยังมีสัดส่วนการเติบโตที่น้อยกว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน โดย Singapore (ลำดับที่ 16), Kuala Lumpur (ลำดับที่ 46), Bangkok (ลำดับที่ 57) และ Jakarta (ลำดับที่ 60) และมีสัดส่วนเติบโตที่น้อยมาก


ผู้ประกอบการของไทยเริ่มมีการปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัว และให้การสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน คำนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว และการลงทุนสีเขียว จะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง รวมถึงแต่ละภาคส่วนมีความเข้าใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน ทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดสรรเงินทุนยังไม่ตรงจุดซึ่งอาจนำไปสู่การกล่าวอ้างเกินจริงว่ามีการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว (Greenwashing) หรือการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับตัวโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Activities) ยังไม่เพียงพอ





ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน มีความเข้าใจตรงกัน และมีจุดยึดโยงให้นำไปใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย วางแผนเชิงกลยุทธ์ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการของภาคธุรกิจได้อย่างมีมาตรฐาน และสอดคล้องกัน ซึ่งจะช่วยให้แต่ละภาคส่วนสามารถประเมินสถานะการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถวางแผนรองรับการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สอดคล้องกับบริบทของไทยได้อย่างเหมาะสม และทันการณ์




ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Thailand Taxonomy



Thailand Taxonomy จะกำหนดคำนิยาม คำอธิบาย เงื่อนไข และตัวชี้วัดที่ชัดเจนเป็นรายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคู่มือให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ และประเมินได้ตรงกันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นมีการดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม หรือไม่ และอยู่ในระดับใด โดยการพัฒนา Thailand Taxonomy ได้คำนึงถึงบริบทของประเทศ และความสอดคล้องกับมาตรฐานต่างประเทศ (Inter-operability) เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึง



การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน Thailand Taxonomy จะคำนึงถึง 2 มิติสำคัญ ได้แก่ วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจที่จะดำเนินการ โดยในการจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะเริ่มจากวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง Climate Change Mitigation ก่อน และจะครอบคลุมภาคพลังงาน และภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง



โมเดลแสดงการประเมินกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยแบ่งออกเป็น 3 สี ตามสัญญาณไฟจราจร



การจัดทำ Thailand Taxonomy ใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งการคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับตามระบบสัญญาณไฟจราจร (Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ดังนี้


สีเขียว (Green) หมายถึง กิจกรรมที่ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน


สีเหลือง (Amber) หมายถึง กิจกรรมที่ยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียง หรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในปัจจุบันสามารถลดปัญหาได้บ้างแต่ยังสามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้


สีแดง (Red) หมายถึง กิจกรรมที่ไม่สามารถถูกประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้ และไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับกิจกรรมในระดับสีเขียว หรือสีเหลือง

Comentarios


bottom of page