top of page

Green Finance แหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

สถาบันการเงินต่างๆ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน (Net Zero Transition) โดยได้ปรับตัวรองรับเทรนด์นี้โดยออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่ยั่งยืน (Green and Sustainable Finance) ในรูปแบบต่างๆ



เช่น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas: GHG) และเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้เร็วขึ้น เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม


องค์กร UN Environment Programme (UNEP) ได้กำหนด 5 แนวทางเพื่อใช้เป็นหลักการในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย (1) เสริมสร้างแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาตลาดในวงกว้างให้สามารถใช้ได้กับทุกประเทศ (2) ควบคุมงบดุลสาธารณะเพื่อไม่ให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากเกินจำเป็น (3) ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินโดยตรงผ่านนโยบาย (4) เปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมให้เกิดการยอมรับในวงกว้าง และ (5) ยกระดับด้านการกำกับดูแล



ประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตก และสหรัฐอเมริกา ถือเป็นผู้ริเริ่มนำร่อง เรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ (Green Finance) ขณะที่ประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เริ่มมีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ในเอกสารการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นการจัดทำครั้งที่ 10 โดยได้ประเมิน 126 เมืองที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงินต่างๆ ทั่วโลก ในมิติที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านการเงินสีเขียว โดยวิเคราะห์จากความพร้อมปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านของแต่ละเมือง อันได้แก่ (1) ด้านความยั่งยืน (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (3) ด้านทรัพยากรมนุษย์ และ (4) ด้านการดำเนินธุรกิจ เพื่อทำการประเมินศักยภาพทางการแข่งขัน (Competitiveness) ของแต่ละเมืองเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียว


จากผลการวิเคราะห์ประเมินปัจจัยพื้นฐานทั้ง 4 ด้านดังกล่าวข้างต้นพบว่า London ได้อันดับ 1 ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความยั่งยืน ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ Amsterdam ได้อันดับ 1 ในด้านการดำเนินธุรกิจ ในขณะที่ New York ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ติดอยู่ใน 3 ลำดับแรกในการประเมินทุกด้าน


สำหรับการจัดอันดับเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียนในการศึกษาของ GGFI ครั้งที่ 10 พบว่า Singapore (ลำดับที่ 16), Kuala Lumpur (ลำดับที่ 46), Bangkok (ลำดับที่ 57) และ Jakarta (ลำดับที่ 60) โดยทุกเมืองในอาเซียนปรับตัวดีขึ้นและได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการจัดอันดับครั้งก่อน

(รูปที่ 4) ผลการจัดอันดับ 20 เมืองศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวในการศึกษา Global Green Finance Index (GGFI) ครั้งที่ 10 เทียบกับครั้งที่ 9



สำหรับการเงินสีเขียวในประเทศไทย ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการของไทยเริ่มมีการปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัว และให้การสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด โดยส่วนใหญ่จะเป็นการให้สินเชื่อสีเขียวกับธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เช่น พลังน้ำ ลม ชีวภาพ และชีวมวล

Comments


bottom of page